มช.เผยรถไฟจีน-ลาวไม่พร้อมขนทุเรียน เหตุลานเปลี่ยนถ่ายยกตู้จากรถไฟสู่รถหัวลากทำได้เพียงครั้งละ 9 คันรถ รับรถไฟได้แค่วันละขบวน แนะผู้ส่งออกเลี่ยงเส้นทางบก R3A-เรือ
วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ หัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ China Intelligence Center วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดสัมมนาออนไลน์ผ่านระบบซูมในหัวข้อ “บทบาทของรถไฟจีน-ลาว ที่มีต่อการค้าผลไม้สดและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (CBEC) ไทย-จีน” โดยมีวิทยากรจากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจจีน ได้แก่ กลุ่มผู้กลุ่มผลไม้สดคือ Mr. GU Lifeng ผู้บริหารบริษัทรัฐวิสาหกิจ Yunnan International Railway Service and Trading ร่วมการสัมมนา ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการฯ ที่ทางศูนย์ CIC ได้รับงบประมาณจาก “กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง” ภายใต้การสนับสนุนของ “กรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์”
สำหรับรถไฟจีน-ลาวที่ได้เปิดดาเนินการเดินรถอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 รวมระยะเวลากว่า 5 เดือนของเส้นทางดังกล่าว ที่ทำหน้าที่เป็นช่องทางการขนส่งทางบกทางเลือกใหม่เชื่อมโยงกลุ่มประเทศอาเซียนกับประเทศจีน และกลายเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ทั้งสำหรับสินค้ากลุ่มผลไม้สด และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทย-จีน
ทั้งนี้ พบว่าในช่วงกว่า 5 เดือน มีการขนส่งสินค้ารวม 307 เที่ยวขบวนรถ ปริมาณสินค้ารวมกว่า 2.521 แสนตัน มูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,407 ล้านหยวน มีสัดส่วนปริมาณสินค้าขนส่งจากลาวไปจีนที่ร้อยละ 58 และจากจีนสู่ลาวร้อยละ 42 มีเมืองต้นทางการขนส่งจาก 18 มณฑลในประเทศจีน และสินค้าถูกส่งไปยังปลายทางผ่านเส้นทางนี้รวม 7 ประเทศอาเซียน กับ 1 ประเทศในเอเชียใต้ (บังคลาเทศ) สัดส่วนปริมาณสินค้าที่ส่งออกจากจีน มีประเทศไทยเป็นปลายทางหลัก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.09 ของปริมาณสินค้าที่ส่งออกจากประเทศจีนทั้งหมด สินค้าประกอบด้วยสินค้ากลุ่มปุ๋ยเคมี เสื้อผ้า สินค้าเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า กล่องกระดาษ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มผลไม้สดจากไทยไปจีน พบว่าด่านตรวจโรคพืชด่านศุลกากรรถไฟโม่ฮาน ซึ่งเป็นหนึ่งในด่านนำเข้าผลไม้ที่อยู่ภายใต้ “พิธีสารว่าด้วยการขนส่งผลไม้สดผ่านประเทศที่สาม” ระหว่างไทย-จีนปัจจุบันยังไม่พร้อมเปิดดำเนินการ โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2565 ช้ากว่ากำหนดการเดิมที่วางไว้ในช่วงเดือนพฤษภาคม สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ปัจจุบันจึงยังไม่สามารถใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีนเป็นเส้นทางหลักของการขนส่งผลไม้ไทย เพราะแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการดำเนินการทดลองขนส่งผลไม้ไทยผ่านเส้นทางนี้ไปแล้ว
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาด่านตรวจโรคพืชที่ยังไม่พร้อมเปิดใช้ ด้วยการใช้วิธีการขนส่งจากสถานีรถไฟเวียงจันทน์ใต้ถึงสถานีนาเตย จากนั้นจะเปลี่ยนระบบการขนส่งจากรถไฟเป็นรถบรรทุกหัวลากเพื่อนำสินค้าผ่านด่านศุลกากรทางถนนโม่ฮานที่มีความพร้อม แต่เนื่องจากลานเปลี่ยนถ่ายเพื่อยกตู้บรรทุกผลไม้จากรถไฟสู่รถหัวลากทำได้เพียงครั้งละ 9 คันรถ ทำให้ขบวนรถไฟที่นำเอาตู้บรรทุกผลไม้รวม 28 ตู้ต้องใช้เวลาขนถ่ายค่อนข้างมาก วิธีการนี้จึงรองรับการขนส่งได้เพียง 1 ขบวนต่อวันเท่านั้น
อ.ดร.ดนัยธัญ กล่าวต่อว่า ความต้องการส่งออกผลไม้ไทยสู่จีนในช่วงเดือนเมษายนอยู่ที่ประมาณ 300 ตู้ต่อวัน และจะขึ้นไปสูงสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่เป็นช่วงที่มีปริมาณผลไม้ออกมามากที่สุดถึงกว่า 1,000 ตู้ต่อวัน ด้วยเหตุนี้ผู้ส่งออกผลไม้จึงควรหาช่องทางอื่นสำหรับการส่งออกสำหรับฤดูกาลผลไม้ปีนี้ เช่น เส้นทาง R3A และการขนส่งทางเรือเดินสมุทรที่ยังใช้การได้ปกติ แต่ต้องระมัดระวังกับการปนเปื้อนโควิด-19 ไปกับบรรจุภัณฑ์ของผลไม้ที่เป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างมากสำหรับประเทศจีนที่ยังคงมาตรการ “Zero Covid” อย่างเคร่งครัด
ด้าน Mr. LIU Yang ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจคณะกรรมการจัดการเขตศุลกากรพิเศษครบวงจรคุนหมิง กล่าวว่า กรณีการขนส่งสินค้าจากจีนสู่ไทยในรูปแบบ B2C ของสินค้าจีนเพื่อจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทยไม่ว่าจะเป็น Lazada และ Shopee โดยการขนส่งจากคุนหมิงถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นรถบรรทุกวิ่งต่อไปยังด่านชายแดน ไทย-ลาว “มุกดาหาร –สะหวันนะเขต” ที่สามารถดำเนินพิธีการศุลกากรสำหรับพัสดุภัณฑ์เร่งด่วน เพื่อเข้าสู่ประเทศไทยต่อไป โดยได้ดำเนินการขนส่งด้วยวิธีการนี้มากกว่า 10 ตู้นับตั้งแต่มีการเดินรถในเส้นทางรถไฟลาว-จีน
ซึ่งในทางกลับกันทางเขตศุลกากรพิเศษครบวงจรคุนหมิงก็มีความพร้อมหากผู้ประกอบการไทยจะนำสินค้าไทยผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน เพื่อไปจัดเก็บเพื่อรอจำหน่ายผ่านช่องทาง CBEC ของจีน รวมถึงการขายผลไม้สดไทยผ่านวิธีการ Social Commerce และ VDO Livestreaming แบบ B2C จากสวนผลไม้ แล้วทำการจัดส่งผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีนที่รวดเร็วก่อนจะใช้การโลจิสติกส์ด่วนในประเทศจีนเพื่อส่งมอบผลไม้สดแบบ door to door ให้กับผู้สั่งซื้อต่อไป
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ