CAMT นำ Blockchain มาสร้าง Education Sandbox เพื่อผู้เรียนในยุคดิจิทัล
วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565 เวลา 17.00 – 17.30 น. ที่ depa สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลภาคเหนือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงข่าว CAMT นำ Blockchain มาสร้าง Education Sandbox เพื่อผู้เรียนในยุคดิจิทัลโดยมีนายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปัจจุบัน อันเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มุ่งเน้นการวิจัย และการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้มีการวางแนวทาง CMU Transformation สู่ “ก้าวใหม่ มช.” เพื่อสนับสนุนการศึกษารูปแบบใหม่ ผลักดันในเรื่องการนำเทคโนโลยี มาพัฒนาการดำเนินงานหรือกิจกรรมต่างๆ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมต้นแบบเพื่อชุมชน และร่วมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวในยุคการขับเคลื่อนทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) ซึ่งจากที่กล่าวมานั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงมีการ ปรับและเพิ่มเติมหลักสูตรต่าง ๆ ที่จะเน้นไปในส่วนของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) งานวิจัยและนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันทางวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา มุ่งปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา และมีการปรับโครงสร้างการบริหาร และนโยบายตามความจำเป็นเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการขยายผลจึงทำให้เกิดโครงการ Sandbox โดยวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สร้างหลักสูตรบูรณาการอุตสาหกรรมดิจิทัล หรือ Digital Industry Integration ในรูปแบบ Education Sandbox ระดับปริญญาตรี โดยออกแบบหลักสูตรร่วมกับผู้ประกอบการ ทั้งทางด้านการเรียน และด้านการทำงานควบคู่กันไป ผู้เรียนสามารถจบหลักสูตรภายใน 3 ปี โดยใช้แบบจำลองหรือโมเดลจากเยอรมันและฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ ซึ่งหลักสูตรนี้มุ่งเน้นเพื่อสร้างกำลังคนดิจิทัล ป้อนผู้ประกอบการ SME เชียงใหม่ตามความต้องการของตลาด เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้นนักศึกษา สามารถที่จะเข้าไปเรียนรู้กระบวนการทำงานในสถานที่จริง
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ ประธานหลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล (ปริญญาโท) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และ เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึง มุมมองและการปฏิรูปภาคการศึกษา ทิศทางของหลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปัจจุบัน ไม่ใช่เฉพาะภาคธุรกิจ แต่รวมถึงสถาบันการศึกษาที่ต้องปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตที่เปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมผู้เรียนที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาทำให้ช่วยให้การในการเรียนรู้ให้ง่ายมากขึ้น หลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล จึงเริ่มจากการปฏิรูปตัวหลักสูตรเองก่อน โดยทลายโครงสร้างหลักสูตรที่ไม่ยืดหยุ่น ให้สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมและผู้เรียนมากขึ้น นำการเรียนรู้แบบไฮบริด (hybrid learning) มาใช้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และครั้งนี้ทางหลักสูตรได้ร่วมมือกับบริษัท I AM CONSULTING ในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ตั้งแต่การ พิสูจน์ตัวตน (eKYC) การเก็บชั่วโมงการเรียนรู้ในรูปแบบ Modular รวมถึงการออกประกาศนียบัตรดิจิทัล (Digital Certificate) ในรูปแบบ NFT และการเทียบโอนวิชาระหว่างหลักสูตร โดยใช้ Smart Contract ซึ่งจะเป็นที่แรกในประเทศไทยที่นำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่มาใช้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (lifelong learning) อย่างแท้จริง
ในด้านเทคโนโลยี เราได้รับความร่วมมือจากทาง คุณวรวิทย์ รัตนธเนศวิไล รองประธานกรรมการ บริษัท I AM CONSULTING โดยร่วมยกระดับการศึกษาสู่การเป็น Digital University โดยมีปัจจัยความสำเร็จอยู่ 3 ด้านได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งเราได้ใช้ “xCHAIN ” ที่เป็นเครือข่ายบล็อกเชนของคนไทย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 20 node ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ ประเด็นที่สองได้แก่ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่เชื่อถือได้ ซึ่งเราได้ร่วมกับ JID ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้กว่าสี่แสนราย ซึ่งจะช่วยให้ทวนสอบย้อนกลับไปยังผู้เรียนได้ และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบปริญญาหรือประกาศนียบัตรที่ออกโดยหน่วยงานต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และประเด็นสุดท้ายคือ ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ที่พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่าง CAMT และ I AM CONSULTING ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเก็บชั่วโมงการเรียนรู้และการแลกประกาศนียบัตรได้อย่างง่ายดาย ซึ่งประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีบล๊อคเชนเข้ามาใช้นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีแรงงานพร้อมใช้และได้บุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่ตนได้ใช้งาน สามารถเลือกเรียนจากมหาวิทยาลัยใดก็ได้บนมาตรฐานเดียวกัน และเลือกเรียนเฉพาะสิ่งที่ตนต้องการ ทำให้ลดระยะเวลาในรั้วมหาวิทยาลัย สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้น ในส่วนของมหาวิทยาลัยก็สามารถเปิดหลักสูตรแก่บุคคลทั่วไปตาม concept lifelong learning เพิ่มกลุ่มเป้าหมายแก่บุคคลทั่วไปที่ต้องการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์การทำงานที่เปลี่ยนไปของตนเอง ซึ่งทำให้กลุ่มเป้าหมายของมหาวิทยาลัยขยายตัวมากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความแตกต่าง
ที่มา : Chiang Mai NEWS