สำรวจเส้นทางการค้าผ่านรถไฟ จีน-ยุโรป ณ นครเฉิงตู มหานครฉงชิ่ง นครหนานหนิง และท่าเรือชินโจว
ศูนย์ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดยอาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นภาพร รีวีระกุล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล และอาจารย์ ดร.ชมภัช มาลังค์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล ระดับปริญญาโท แขนงวิชาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Digital Technology Management Track CBEC: Cross Border E-commerce) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำโดยคุณเวทิต โชควัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำคณะรวมกว่า 30 ท่าน อันประกอบด้วยคณะตัวแทนจากกรมเจรจาการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันอุดมศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนสื่อมวลชน ผู้ประกอบการส่งออก ตลอดจนผู้ประกอบการบริษัทโลจิสติกส์ และตัวแทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ร่วมเดินทางสำรวจและศึกษาโอกาสทางการค้าและการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟจากไทยสู่ยุโรปผ่านระบบรางของสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้ ยุทธศาสตร์ BRI Central Gateway (ไทย-จีน-ยุโรป) ในสี่เมืองได้แก่ มหานครฉงชิ่ง นครเฉิงตู นครหนานหนิง และท่าเรือชินโจว ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่บนแนวเส้นทางสายไหมทางบก (รถไฟจีน-ยุโรป) เชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมทางทะเล ตามยุทธศาสตร์ BRI ของจีน ระหว่างวันที่ 3-7 มิถุนายน 2567
การเดินทางสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างศูนย์ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ได้ดำเนินการทดลองขนส่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” จำนวนหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์จากโรงงานผลิตที่อำเภอศรีราชาผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน สู่สถานีชิงไป๋เจียงที่เฉิงตู เดินทางต่อด้วยเส้นทางรถไฟผ่านสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐคาซัคสถาน สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐเบลารุส และสาธารณรัฐโปแลนด์ ก่อนเข้าสู่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สู่ปลายทางฮัมบวร์ค การทดลองในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2566 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุน ปัญหาอุปสรรคและความเป็นไปได้ต่อการใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับประเทศไทยในสถานการณ์ที่การขนส่งทางเรือผ่านทะเลแดงสู่ยุโรปมีความไม่แน่นอนสูง