อาจารย์ CAMT รับทุนสนับสนุนการวิจัยร่วมกับวิศวะมช.
ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง งบประมาณกว่า 150 ล้านบาท
วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรพัฒน์ วาณิชวัฒนะโกศล ผู้ช่วยคณบดี ผู้ร่วมวิจัยในโครงการ Prospect Supply Chain for Small Battery Electric Vehicle (BEV) in Lancang-Mekong Region ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์เกษม ระมิงค์วงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้า โครงการ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรกฎ ใยบัวเทศ ทิพยาวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการ ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี 2566 เพื่อสร้างความเข้าใจ และแนะนำแนวทางการบริหารจัดการโครงการ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงเเรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเปิดรับข้อเสนอโครงการ ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง (Memorandum of Understanding on the Cooperation on Projects of the Mekong-Lancang Cooperation Special Fond 2023) ได้กำหนดสาขาความร่วมมือที่ฝ่ายจีนให้ความสำคัญ เป็นพิเศษ ได้แก่
(1) การพัฒนากลไกความร่วมมือภายใต้กรอบแม่โขง-ล้านช้าง
(2) การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในอนุภูมิภาคแมโขง-ล้านช้าง
(3) การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะด้านทรัพยากรน้ำ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(4) การแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม และ
(5) การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งในมิติด้านสาธารณสุข การขจัดความยากจน การพัฒนาชนบท รวมถึงการส่งเสริมเยาวชน สตรี และผู้พิการ
โดยโครงการ Prospect Supply Chain for Small Battery Electric Vehicle (BEV) in Lancang-Mekong Region เป็น 1 ใน 13 โครงการที่ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้ได้รับทุน และเป็น 1 ใน 18 โครงการของประเทศไทยได้รับการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้างในปีนี้ ในวงเงิน 266,661 ดอลลาร์สหรัฐ จากงบประมาณรวมทั้งสิ้น 4,148,217 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 150 ล้านบาท
ทั้งนี้ทางวิทยาลัยฯ มีอาจารย์ผู้เข้าร่วมวิจัย ได้แก่ อาจารย์ ดร.ศุทธินี สวัสดิ์ซิตัง อาจารย์ประจำสาขาบูรณาการอุตสาหกรรมดิจิทัล อาจารย์ ดร. บุณฑริกา ปภาวสิทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาการจัดการสมัยใหม่และเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วย อาจารย์ ธิสินี สุรพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์
****อ้างอิงข้อมูลจาก ข่าวประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่*****